การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต
และการสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป
ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและช่วยให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในที่สุด
งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย (early childhood
development) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์
(human capital) ให้กับประชากรของประเทศ
ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม
ลดต้นทุนที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและการติดยาเสพติด
และที่สำคัญการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยยังช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ในแง่ที่ช่วยลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันไปอีกด้วย
คณะการศึกษาปฐมวัย จึงจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการฝึกปฏิบัติ ประกอบการบรรยายทฤษฎี การอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ให้ผู้เรียนสังเกตและทดลองฝึกปฏิบัติจริงตามเนื้อหารายวิชาในสถานศึกษาปฐมวัย โดยรายวิชาตลอดทั้งหลักสูตรออกแบบให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการ กระบวนการจัดประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ เพื่อบัณฑิตที่จบการศึกษาจะสามารถปฏิบัติงานในสายงานวิชาชีพปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ แม่นยำในวิธีการปฏิบัติ สามารถอธิบายและนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติได้ ตลอดจนสามารถประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองเพื่อพัฒนาศักยภาพให้พร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่การเป็นบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีไสร้างประโยชน์ทั้งต่อตนเองและวงการศึกษาปฐมวัย และจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
คลิกชมเว็บไซต์ส่วนตัวคณบดี