เด็กเจนใหม่ใช้ AI อย่างไรให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่แค่สะดวกขึ้น
Student blog — 08/05/2025

เด็กเจนใหม่กับการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์และเสริมสร้าง Critical Thinking
ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อแวดวงการศึกษา และยังสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย นำมาสู่การปรับตัวของทั้งผู้เรียนและผู้สอนเพื่อก้าวทันความเปลี่ยนแปลงนี้ ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีโดยละเลยการพัฒนาทักษะตนเอง การเรียนรู้ในโลกยุค AI จึงต้องคำนึงถึงการใช้เครื่องมือเพื่อส่งเสริมศักยภาพของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับกระบวนการไม่ใช่เพียงผลลัพธ์เท่านั้น
การใช้วิจารณญาณยังคงเป็นงานสำคัญของมนุษย์
ในยุคที่ข้อมูลมากล้นและเทคโนโลยีหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ข้อมูล แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น ตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอ และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำหรือรับข้อมูลโดยไม่ไตร่ตรอง การฝึกฝน Critical Thinking ควรเริ่มในห้องเรียนผ่านการตั้งคำถาม เช่น “ทำไม” และ “อย่างไร” เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักหาเหตุผลและข้อสนับสนุน เปิดให้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และฝึกแก้ปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียวหรือสูตรสำเร็จตายตัว
AI Literacy เพื่อความเข้าใจและใช้ AI อย่างรู้เท่าทัน
AI Literacy หรือ ความฉลาดรู้ทางเอไอ คือความสามารถในการเข้าใจหลักการทำงานของ AI การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ AI สร้างขึ้น ตลอดจนการใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ ในปัจจุบันเด็กเจเนอเรชั่นใหม่มีโอกาสได้สัมผัส AI ตั้งแต่อายุยังน้อยจึงคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีนี้ แต่ด้วยวัยและประสบการณ์จึงยังมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองไม่มากนัก การพัฒนา AI Literacy จึงต้องเน้นทั้งการใช้งาน AI ในชีวิตจริง การตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับจาก AI และการตระหนักถึงความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการเรียนรู้ข้อจำกัดของ AI เช่น อคติ ข้อมูลบิดเบือน และประเด็นด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
3 กลยุทธ์สำหรับการใช้ AI ในห้องเรียนเพื่อเสริมสร้าง Critical Thinking
ที่มา https://www.aiedu.org/aiedu-blog/cultivating-critical-thinking-guiding-ai-use-in-todays-classroom
การพัฒนา Critical Thinking ควบคู่กับ AI Literacy ในห้องเรียนยุคใหม่ ต้องอาศัยแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ AI ได้อย่างมีวิจารณญาณและมีความรับผิดชอบ โดยมีประเด็นสำคัญที่นำไปปรับใช้ได้ ดังนี้
– Center Student Thinking ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ผู้เรียนตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ และสะท้อนความคิดของตนเอง แทนที่จะรับข้อมูลจาก AI โดยตรงหรือเชื่อโดยไม่พิจารณา ในการส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้สอนอาจใช้วิธีติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนจากต้นฉบับงานก่อนจะเป็นงานที่สมบูรณ์ เพื่อติดตามพัฒนาการทางความคิดและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง รวมทั้งส่งเสริมการนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงด้วยการตั้งคำถามเช่น “ถ้าแนวคิดนี้นำไปใช้ในชีวิตจริงจะเกิดอะไรขึ้น” หรือ “มีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง” ซึ่งการสะท้อนคิดจากมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่ AI ไม่อาจทำแทนได้
– Be Explicit on Level of AI Use อธิบายอย่างชัดเจนให้ได้ว่าการใช้ AI ในแต่ละกิจกรรมหรือบทเรียนควรอยู่ในระดับใด เช่น ใช้ AI เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้น ช่วยตรวจสอบไวยากรณ์ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการระดมความคิด ไม่ใช่ให้ AI ทำงานแทนทั้งหมด การกำหนดขอบเขตนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาทของ AI และไม่พึ่งพา AI เกินความจำเป็น
– Model Appropriate Use ผู้สอนควรเป็นแบบอย่างในการใช้ AI อย่างเหมาะสม เช่น การแสดงวิธีตั้งคำถามกับ AI การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จาก AI และการอภิปรายถึงข้อจำกัดหรืออคติที่อาจเกิดขึ้นจาก AI เพื่อให้ผู้เรียนเห็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียนหรือการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน เด็กเจนใหม่ควรมีทักษะในการใช้ AI อย่างรู้เท่าทัน และสามารถคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อมูล เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง และรู้จักการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบในสังคมยุคดิจิทัล
📱สนใจสมัครเรียนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ:
- คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- โทร: 02-6976664-5
- เว็บไซต์: https://ece.utcc.ac.th
- Facebook: https://www.facebook.com/EarlyChildhoodUTCC
- Instagram: ece.utcc
- TikTok: ece.utcc
#อยากเป็นครู #การศึกษา #ครูปฐมวัย #ครูอนุบาล #เรียนต่อปริญญาตรี #UTCC #การศึกษาไทย
