คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถูกก่อตั้งขึ้นจากการขยายผลงานวิจัยของโครงการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand) หรือ “ไรซ์ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่เริ่มทำการศึกษาในปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมายในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้กับประชากรของประเทศ ด้วยการใช้หลักสูตรทางการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (early childhood development) เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) คือ หลักสูตรที่ไรซ์ไทยแลนด์นำมาใช้เนื่องจากงานวิจัยของศาสตราจารย์เจมส์ เจ แฮคแมน ที่ทำงานวิจัยและพบว่า เด็กปฐมวัยอายุ 3 ถึง 4 ขวบ จำนวน 123 คน ที่เรียนด้วยหลักสูตรนี้ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมือง Ypsilanti รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี 1962 ถึง ปี 1964 และตามเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง มาจนถึงปัจจุบัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการฯ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ร้อยละ 10 ต่อปี (Heckman and et.al., 2010, 2013)
จากการเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2558 ของโครงการของไรซ์ไทยแลนด์ นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรไฮสโคปตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ การผลิตผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรไฮสโคป และคอร์สการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในห้องเรียนจริง (on-site training) ซึ่งทำให้เกิดการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียนเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งมีการติดตามเก็บข้อมูลและการวิจัย เด็กปฐมวัยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ทุนมนุษย์ในอนาคต (ref. งานวิจัย RIPED)
จากการดำเนินการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2562 คณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงเริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ภายใต้วิสัยทัศน์ของรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยไรซ์ไทยแลนด์ มาขยายผลต่อยอดเพื่อพัฒนาครูปฐมวัยรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป